look at arty

look at arty

กะเม็ง หญ้าธรรมดาแต่เป็นยามหัศจรรย์


เรื่องน่ารู้ของกะเม็ง : หมอรักษาตับ หมอโรคผิวหนัง หมอระบบประสาท

กะเม็ง…ยาแก้เกี่ยว อาการทางประสาท อาการชัก ไข้ หมอยาอีสาน หมอยาไทยใหญ่ หมอยาล้านนา มักจะเรียกกะเม็งว่า “ฮ่อมเกี่ยว” ใช้รักษาอาการ “เกี่ยว” อาการเกี่ยวนั้นน่าจะเป็นอาการทางประสาท เป็นลมวิงเวียน ชักเกร็ง มือเกร็งและเกี่ยวกัน ซึ่งอาการเช่นนี้คล้ายๆ กับโรค Hyperventilation ในแผนปัจจุบัน วิธีใช้นั้นจะใช้ฮ่อมเกี่ยวเป็นตัวหลักตำคั้นน้ำผสมกับสมุนไพรที่มีกลิ่นหอมตัวอื่นๆ เช่น ขิง ว่านเปราะหอม เป็นต้น แล้วใช้น้ำคั้นที่ได้ให้ผู้ป่วยจิบ และใช้ผ้าชุบน้ำผสมน้ำคั้นสมุนไพรเหล่านั้นเช็ดหน้า คลุมหัวผู้ป่วยไว้
การศึกษาวิจัยสมัยใหม่เกี่ยวกับกะเม็ง พบว่ามีฤทธิ์คลายเครียด ช่วยทำให้นอนหลับ โดยกะเม็งไปมีฤทธิ์เพิ่มระดับ Melatonin ซึ่งเป็นฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่หลั่งออกมาตอนกลางคืน ซึ่งสารนี้จะช่วยปรับสภาพร่างกายให้เหมาะแก่การนอนหลับ



กะเม็ง...รักษาตับ

กะเม็งเป็นสมุนไพรที่มีการกล่าวขวัญถึงในหมู่หมอยาสมัยก่อนทั้ง ไทย จีน พม่า อินเดีย โดยใช้เป็นยารักษาตับ หมอยาไทยมักจะบอกว่ากะเม็งรักษาอาการดีซ่านตัวเหลืองตาเหลือง เคยมีหมอพม่าและหมออินเดียมาดูงานที่โรงพยาบาลต่างพูดตรงกันว่า กะเม็งเป็นสมุนไพรที่บ้านเขาใช้รักษาตับ มีทั้งใช้กะเม็งเดี่ยวๆ หรือบางครั้งก็ใช้เป็นตำรับร่วมกับต้นลูกใต้ใบ ผักหวานบ้าน มะขามป้อม เป็นต้น สอดคล้องกับการค้นคว้าทางเอกสาร พบว่าหมอยาพื้นบ้านในประเทศต่างๆ ก็มีการใช้กะเม็งรักษาโรคตับเช่นกัน
นอกจากนี้ยังมีประสบการณ์จากทางบ้านคือ ใช้ต้นกะเม็งสดๆ ๓-๔ ต้น ล้างให้สะอาดนำไปต้มให้เดือดประมาณ ๑๐ นาที แล้วดื่มน้ำโดยผสมน้ำตาลทรายลงไปผสมพอมีรสหวาน ดื่มกินไม่เกิน ๒ วัน ช่วยแก้อักเสบ บวมช้ำ (พระจีรพันธ์ ธัมมกาโม วัดพบพระใต้ จ.ตาก)
ปัจจุบันมีรายงานการศึกษาวิจัยเป็นจำนวนมากถึงผลของกะเม็งต่อตับ คือกะเม็งสามารถป้องกันไม่ให้ตับถูกทำลายจากสารพิษรวมทั้งจากแอลกอฮอล์ ป้องกันไม่ให้เซลล์ตับถูกทำลายจากไวรัส แถมยังช่วยในการฟื้นตัวของตับที่ถูกทำลายได้อีกด้วย



กะเม็ง…ยาอายุวัฒนะ

กะเม็งยังเข้ายาอายุวัฒนะหลายตำรับ มีทั้งใช้เดี่ยวๆ และใช้เข้ายาตำรับร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยทำเป็นผง ปั้นเป็นลูกกลอน เป็นยาชงกินแทนน้ำชาทุกวันก็ได้ และมีตำรับที่ใช้การตำคั้นกะเม็งผสมน้ำผึ้งกินทุกวันเดือนดับก็มี จากการศึกษาสมัยใหม่พบว่ากะเม็งมีฤทธิ์เพิ่ม T-lymphocyte และมีการศึกษาตำรับยาจีนชนิดหนึ่งเรียกว่า AFE ซึ่งมีกะเม็งเป็นส่วนประกอบ พบว่าสูตรยาดังกล่าวสามารถเพิ่มระดับ lymphocyte และ IgG ซึ่งเป็นสารสำคัญต่อระบบภูมิคุ้มกัน นอกจากนี้กะเม็งยังทำให้เยื่อหุ้มเซลล์ของเม็ดเลือดแดงแข็งแรงขึ้น ซึ่งยืนยันการใช้เป็นยาอายุวัฒนะของคนสมัยก่อนได้เป็นอย่างดี และอาจมีประโยชน์ต่อการใช้เป็นยาเสริมภูมิคุ้มกันในผู้ป่วยเอดส์ นอกจากนี้แล้วยังพบว่า กะเม็งลดการกดภูมิคุ้มกันซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการใช้ใรักษาความเป็นปกติของร่างกายขณะได้รับเคมีบำบัด
นอกจากเป็นยาอายุวัฒนะแล้ว หมอยาพื้นบ้านยังบอกว่ากะเม็งเหมาะที่จะทำเป็นชาสมุนไพรสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน โดยนำต้นกะเม็งตากแดดให้แห้ง แล้วนำไปคั่วให้พอหอม ชงน้ำร้อนดื่มเป็นน้ำชารับประทานดียิ่งนัก



กะเม็ง...รักษาแผล โรคติดเชื้อทางผิวหนัง แก้อักเสบ

หมอยาทุกภาคต่างรู้ดีว่ากะเม็งเป็นสมุนไพรทำแผล ช่วยห้ามเลือดและป้องกันการติดเชื้อ มีเรื่องเล่าจากประสบการณ์ว่า สมัยสงครามเวียดนาม กะเม็งเป็นยาคู่สนามรบมีการนำมาใช้ทั้งสดและแห้งเพื่อห้ามเลือด นอกจากนำมาใช้รักษาแผลให้คนแล้ว กะเม็งยังเป็นยารักษาแผลในสุนัขตัวโปรดได้ด้วย
กะเม็งยังใช้ตำพอกแก้อักเสบเมื่อถูกแมลงสัตว์กัดต่อย ใช้ต้มอมบ้วนปากรักษาอาการปากและเหงือกเป็นแผล แก้ปวดฟันหรือจะใช้ต้นสดผิงไฟให้แห้งแล้วบดเป็นผงทาที่เหงือกแก้ปวดฟันก็ได้ และกะเม็งยังใช้รักษาอาการปากเปื่อย-ปากเจ็บเนื่องจากเชื้อราในเด็ก โดยใช้น้ำคั้นจากใบ ๒ หยดผสมน้ำผึ้ง ๘ หยด ทาบ่อยๆ
กะเม็งยังสามารถรักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก อาการฟกช้ำ อาการแพ้ได้อย่างดี โดยบดตำเอามาพอกที่บาดแผล ลดอาการอักเสบ ปวดแสบปวดร้อน อาการอักเสบจะดีขึ้น ให้พอกไปเรื่อยๆ และคอยเปลี่ยนยาบ่อย ๆ
กะเม็งยังช่วยรักษาอาการน้ำกัดเท้า ชาวนาสมัยก่อนจะนำใบกะเม็งขยี้ทาเท้าทิ้งไว้ให้แห้งก่อนลงนา การศึกษาวิจัยสมัยใหม่พบว่ากะเม็งมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อทั้งราและแบคทีเรีย และเป็นสมุนไพรที่ขึ้นได้ดีในหน้าน้ำ เป็นเรื่องน่าแปลกเพราะดูเหมือนว่า ธรรมชาติจะได้ประทานสมุนไพรชนิดนี้มาให้กับชาวนาใช้รักษาโรคน้ำกัดเท้า ในหน้าลงนาได้พอดิบพอดี


ปัจจุบันนี้ คนจำนวนมากมีอาการ เริ่มเป็นโรคไตกันเยอะ ซึ่งถ้าเป็นไม่นาน ต้น "กะเม็ง" ทั้ง 2 ชนิด คือ "กะเม็งตัวผู้" กับ "กะเม็งตัวเมีย" แก้ได้ โดย เอาทั้งต้นแบบแห้งชนิดใดชนิดหนึ่ง จำนวน 1 กำมือ ต้มกับน้ำจนเดือด ดื่มครั้งละ 1 แก้ว เช้า กลางวัน เย็น หรือต้มดื่มแทนน้ำทั้งวันก็ได้ จะช่วยล้างพิษหรือสารตกค้างจากไตจนหมด ทำให้ไตสมบูรณ์ขึ้น ร่างกายก็แข็งแรงตามไปด้วย ไม่มีอาการปวดเมื่อย ผิวกายไม่ตกกระ และยังช่วยชะลอความแก่เพราะไตดีขึ้นนั่นเอง ผิวพรรณสดใสอีกด้วย

กะเม็งตัวผู้  เป็นหญ้า กลีบดอกสีเหลือง อยู่ในวงศ์ COMPOSITAE (ดูภาพประกอบคอลัมน์) ทั้งต้นสดหรือแห้ง ต้มหรือทำผงดื่มกินแก้ไอ แก้อาเจียนเป็นเลือด บำรุงโลหิต คนจีนเรียกอึ้งปั้วกีเชา คนไทยเรียกกะเม็งดอกเหลือง ส่วน "กะเม็งตัวเมีย" หรือ ECLIPTA PROSTRATA LINN อยู่ในวงศ์ ASTERACEAE เป็นไม้ล้มลุก ต้นสูงกว่าครึ่งเมตร กลีบดอกเป็นสีขาว ใบ รากปรุงเป็นยาถ่าย ทำให้ อาเจียน รากแก้เป็นลมหน้ามืดจากการคลอดบุตร แก้ท้องเฟ้อ บำรุงตับ ม้าม บำรุงโลหิต ทั้งต้นแก้มะเร็ง (อาการแผลเรื้อรังเน่าลุกลามรักษายาก) แก้หืด แก้หลอดลมอักเสบ แก้จุกเสียด แก้กลากเกลื้อน เป็นยาฝาดสมาน น้ำคั้นจากต้นใช้รักษาอาการดีซ่านดีมาก


กะเม็ง  

ชื่ออื่น ๆ : กะเม็งตัวเมีย กะเม็ง(ภาคกลาง) ฮ่อมเกี่ยว(ภาคเหนือ) บั้งก็เช้า(ประเทศจีน)
ชื่อสามัญ : -
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Eclopta prostrata Linn.
วงศ์ : COMPOSITAE
ลักษณะทั่วไป

ต้น : เป็นพรรณไม้ล้มลุก ที่มีลำต้นตั้งตรง มีความสูงประมาณ 4-32 นิ้ว ลักษณะลำต้นมีขนหรือบางต้นก็ค่อนข้างเกลี้ยง ลำต้นมีกิ่งก้านแตก ที่โคนต้น
ใบ : ใบมีลักษณะเป็นรูปรี หรือรูปหอก ปลายใบแหลมเรียว โคนใบสอบแคบ ริมขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย ผิวเนื้อใบเกลี้ยง ขนาดของใบกว้างประมาณ 0.5-2.5 ซม. ยาวประมาณ 3-10 ซม. ก้านใบไม่มี
ดอก : ดอกออกเป็นกระจุก ลักษณะของดอกมีกลีบดอกสีขาว ดอกวงในโคนดอกเชื่อมติดกันเป็นรูปท่อยาวประมาณ 2 มม. ส่วนปลายจะหยักเป็น 4 แฉก ดอกในวงนอกเป็นรูปรางน้ำ ยาวประมาณ 2.5 มม. ปลายดอกหยักเป็น 2 แฉก ก้านดอกเรียวยาว ยาวประมาณ 2-4.5 ซม.
ผล : ผลมีลักษณะเป็นรูปลูกข่าง มีสีดำ ปลายมีระยางค์เป็นเกล็ดยาวประมาณ 2.5 มม. ขนาดของผลกว้างประมาณ 1.5 มม. ยาวประมาณ 3-3.5 มม.
การขยายพันธุ์ : เป็นพรรณไม้ที่ชอบขึ้นในที่โล่งแจ้ง ต้องการน้ำและความชื้น ค่อนข้างมาก มีการขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด
ส่วนที่ใช้ : ลำต้น ใบ ดอก ราก
สรรพคุณ : ลำต้น ใช้เป็นยาฝาดสมาน บำรุงอวัยวะเพศ แก้ตกขาว โรคมะเร็ง คอตีบ ปัสสาวะเป็นโลหิต ไอเป็นโลหิต อุจจาระเป็นโลหิต อาเจียนเป็นโลหิต โรคลำไส้อักเสบ บำรุงไต วิธีใช้ด้วยการนำมาต้มเอาน้ำดื่ม หรือนำลำต้นมาตำให้ละเอียดคั้นเอาน้ำผสมกับน้ำหอม ใช้สูดดม แก้โรคดีซ่านและแก้ไข้หวัด และเมื่อนำมาผสมกับพริกไทยและน้ำผึ้งแล้วปั้นเป็นกลอนเล็ก ๆ ใช้เป็นยาบำรุงร่างกายให้แข็งแรง แก้ปวดเมื่อย ใบ นำใบสดมาตำให้ละเอียดแล้วคั้นเอาน้ำมาผสมกับน้ำมันมะพร้าว ใช้ใส่ผมดก ดำเป็นมัน และยังแก้ผมหงอกก่อนวัย เมื่อนำมาผสมกับน้ำผึ้งกิน แก้โรคหวัด น้ำมูกไหลใช้กับทารก ตำเอากากมาพอกแผล แผลห้ามโลหิต แก้โรคหนังกลากเกลื้อน จากเชื้อรา ดอกและใบ ใช้ต้มและนำมาทา บริเวณเหงือก หรือฟันที่ปวด ราก ใช้ต้มเอาน้ำกิน แก้โรคเลือดจาง ท้องร่วง โรคบิด หอบหืด หลอดลมอักเสบ ตับอักเสบ อาการแน่นหน้าอก รักษาโรคเกี่ยวกับตา
ถิ่นที่อยู่ : กะเม็ง เป็นพรรณไม้ที่มักพบตามริมคูน้ำ ตามทรายหาด นาข้าว และสองข้างทาง
หมายเหตุ : “กะเม็งตัวเมีย กะเม็งกะเม็ง(ไทย) หอมเกี่ยว หญ้าสับ(พายัพ) บั้งกีเช้า(จีน).”in Siam. Plant Names,1948,p.201., Eclipta alba Burkill, I,1935,p.889 “Urang-aring, Aring-aring, Ari-aring, Aaghing-aghing, Keremak jantan, Keremak hutan, Rumput kunang puteh (white firefl grass); in Siam, Kameng,”
“A weed of the wholeof the tropics, and extending into the warm temperate belt.”, Eclipta erecta Vanpruk,1923,p.12 “กะเม็ง.

กะเม็งตัวผู้ 

ชื่ออื่น ๆ : ฮ่อมเกี่ยวคำ(เชียงใหม่) กะเม็งตัวผู้(ภาคกลาง)
ชื่อสามัญ : -
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Wedelia chinensis
วงศ์ : COMPOSITAE
ลักษณะทั่วไป
ต้น : เป็นพรรณไม้ล้มลุก ที่มีลำต้นเลื้อยและชูขึ้น ลำต้นสูงประมาณ 4-20 นิ้ว
ใบ : ใบมีลักษณะเป็นรูปหอกแกมขอบขนาน ปลายใบแหลมเรียว โคนใบสอบแคบ ริมขอบใบเป็นหยักตื้น หลังใบและใต้ท้องใบ มีขนขึ้นประปราย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 0.5-1 นิ้ว ยาวประมาณ 0.5-3 นิ้ว ก้านใบสั้น
ดอก : ดอกออกเป็นดอกเดี่ยว บริเวณปลายยอด ลักษณะของดอกเป็นดอกขนาดเล็ก กลีบดอกวงนอกเป็นรูปรางน้ำ ปลายกลีบดอกเป็นหยัก 3 หยัก กลีบดอกยาว 8-11 มม. กลีบดอกวงในเป็นรูปท่อ ปลายกลีบดอกหยักเป็น 5 แฉก กลีบดอกยาว 4 มม. กลางดอกมีเกสรตัวผู้โผล่พ้นจากกลีบดอก และเกสรตัวเมียจะแยกออกเป็นแฉกโค้ง ดอกเมื่อบานเต็มมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 ซม.
ผล : ผลมีรูปลักษณะสอบแคบ ผิวของมันขรุขระไม่เรียบ มีขนาดยาวประมาร 4-5 มม. มีระยางค์เป็นรูปถ้วย ขนาดเล็ก
การขยายพันธุ์ : เป็นพรรณไม้ที่เจริญเติบโตได้ดีในดินที่ชื้นแฉะ ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด
ส่วนที่ใช้ : ลำต้น ใบ
สรรพคุณ : ลำต้น เอาลำต้นมาตำให้ละเอียดแล้วผสมกับข้าว ใช้พอกแก้ปวดบวม หรือนำเอาลำต้นที่ตากแห้งแล้วนำมาชงเป็นยาอาเจียนเป็นเลือด แก้โรคกระเพาะคราก หรือโรคกระเพาะอักเสบ และยังทำให้น้ำสะอาดได้ด้วย ใบ นำมาใช้เป็นยาบำรุง แก้ไอ แก้โรคผิวหนัง ปวดศีรษะ
หมายเหตุ : “มะเก็งตัวผู้(ไทย) ห้อมเกี้ยวคำ(เชียงใหม่).” In Siam. Plant Names,1948,p.495., “Wedelia calendulacea Less.,is a medicinal plant in India and Indo-China, to some extent used vicariously cor Eclipta alba.
Its taste, and are considered tonic, useful in coughs, headaches, skin-didesaes, and baldness,” Burkill,II,1935,p.2253.
พจนานุกรม สมุนไพรไทย ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม

0 ความคิดเห็น: