look at arty

look at arty

ตะวันตก ?? เหนือ ?? ใต้ ?? ทิศไหนดี

นอกจาก  ทิศตะวันตก  แล้ว  คนไทยส่วนใหญ่ในปัจจุบันยังมีความเชื่อว่า ทิศใต้ เป็นอีกทิศหนึ่งที่เป็นทิศอัปมงคล  เพราะมักจะนิยมหันหัวคนตายไปทาง  2  ทิศนี้  ดังนั้นคนจึงนิยมหันหัวนอนไปทาง  ทิศเหนือ  และ  ทิศตะวันออก  ด้วยเชื่อว่าเป็นทิศมงคล
              
แต่คุณทราบมั๊ยครับว่า  จริงๆ  แล้ว  ตามความเชื่อของคนในสมัยโบราณ  ?ทิศใต้นั้นเป็นทิศมงคล  และเป็นทิศหัวนอน  แม้แต่พระมหากษัตริย์ก็จะทรงพระบรรทมโดยหันพระเศียรไปทางทิศนี้
         
ในศิลาจารึกหลักที่  1  จารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช  ได้มีส่วนหนึ่งที่บรรยายเกี่ยวกับภูมิสถานของกรุงสุโขทัยไว้  โดยในด้านที่  3  ระหว่างบรรทัดที่  1 - 10  ได้กล่าวถึงภูมิสถานทาง  เบื้องตีนนอน  และ  เบื้องหัวนอน  ของกรุงสุโขทัยไว้ว่า
        
...
เบื้องตีนนอนเมืองสุโขทัยนี้  มีตลาดปสาน  มีพระอจนะ  มีปราสาท  มีป่าหมากพร้าว...
...
เบื้องหัวนอนเมืองสุโขทัยนี้  มีกุฎีมีพิหาร ปู่ครูอยู่  มีสรีดภงส  มีป่าพร้าวป่าลาง  มีป่าม่วง  ป่าขาม  มีน้ำโคก  มีพระขพุง  ผีเทพยดาในเขานั้น...
               
ซึ่งเมื่อตรวจสอบจารึกกับโบราณสถานที่ยังคงหลงเหลืออยู่  จึงทำให้ทราบอย่างแน่ชัดว่า เบื้องตีนนอน  นั้น  คือ  ทิศเหนือ  ส่วน  เบื้องหัวนอน นั้นคือ ทิศใต้
               
นอกจากคนไทยแล้ว  ชาวเขมรในสมัยโบราณก็มีความเชื่อว่า  ทิศใต้   เป็น  ทิศหัวนอน และไทยเองก็น่าจะได้รับอิทธิพลความเชื่อนี้มาจากเขมรด้วยส่วนหนึ่ง  ราเชนทรวรมัน  ได้เขียนไว้ในหนังสือเรื่องย้อนรอยเทวราชา  ผ่านกษัตราแห่งนครธม  ความว่า  ...เมื่อ  พ.ศ.  1459  อาบู  ซายึด  พ่อค้าชาวอาหรับได้บันทึกสงคราม  ชิงแผ่นดินในหมู่เกาะทะเลใต้ว่า  กษัตริย์หนุ่มกัมพูชาผู้เร่าร้อน  ปรารภกับปุโรหิตว่า  อยากเห็นพระเศียรพระราชาแห่งชวาตั้งอยู่บนพื้นท้องพระโรง  เรื่องราวไปเข้าพระกรรณของกษัตริย์ชวา   กษัตริย์ชวายกทัพมาจับกษัตริย์หนุ่มกัมพูชากลับไป   หลังจากตั้งกษัตริย์กัมพูชาองค์ใหม่    กษัตริย์ชวาส่งพระเศียรอดีตกษัตริย์กลับไปกัมพูชา   อาบู  ซายึด  สรุปทิ้งทายไว้ว่า  นับแต่นั้นกษัตริย์กัมพูชาจะหันพระเศียรไปทางทิศใต้  และเรียกทิศนั้นว่าทิศหัวนอน...
               
ตามบันทึกของอาบู  ซายึด  ที่ราเชนทรวรมันอ้างถึง  กษัตริย์เขมรพระองค์นั้น  คือ  พระเจ้าชัยวรมันที่  2  ซึ่งต่อมาได้ทรงประกาศอิสรภาพให้กับเขมรไม่ต้องขึ้นกับชวา  และทรงเป็นกษัตริย์พระองค์แรกที่นำลัทธิเทวราชาจากอินเดียใช้ในเขมร  เพื่อแสดงพระองค์ว่าทรงเป็นใหญ่เหนือกษัตริย์ทั้งปวง  ดังนั้นการที่กษัตริย์เขมรทรงหันพระเศียรไปทางทิศใต้  เพื่อแสดงความจงรักภักดีต่อกษัตริย์ชวานั้น  ในข้อเท็จจริงจะเป็นเช่นนั้นหรือไม่ผมยังไม่ได้ค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติม  แต่ที่แน่ๆ  ความเชื่อนี้ส่วนหนึ่งน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากทางพระพุทธศาสนาเป็นสำคัญ  เพราะตามพุทธประวัติ  ในยามที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับนอน  จะบรรทมในท่า  ?สีหไสยาทรงตะแคงพระวรกายลงข้างขวา  พระกรขวาเท้าพระเศียร  หันพระพักตร์สู่ทิศตะวันออก  และหันพระเศียรสู่ทิศใต้  และเมื่อจะเสด็จปรินิพพานนั้น  ได้รับสั่งให้พระอานนท์ปูลาดอาสนะที่บรรทมลงระหว่างต้นสาละคู่หนึ่ง  ในป่าสาละวันของมัลละกษัตริย์  จากนั้นประทับในท่าสีหไสยา  โดยหันพระเศียรสู่ทิศอุดร  อันเป็นทิศเหนือ  ครั้นถึงยามสุดท้ายของวันเพ็ญเดือนวิสาขะก็เสด็จสู่ปรินิพพาน

               
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าในสมัยโบราณนั้น  ทิศใต้  เป็นทิศมงคล  และเป็นทิศหัวนอน  ในขณะที่  ทิศเหนือ   เป็นทิศปลายตีน  หรือทิศสำหรับคนตาย
               
ความเชื่อเรื่องการหันหัวคนตายไปทางทิศเหนือนี้  นอกจากจะมีในพุทธประวัติแล้ว  ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์  รัชกาลที่  4  ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ  บุนนาค)  ก็ได้กล่าวไว้เช่นเดียวกันว่าเมื่อครั้งรัชกาลที่  4  เสด็จสวรรคตนั้นได้ทรงหันพระเศียรไปทางทิศเหนือ
               
...
จึ่งรับสั่งว่า  วันนี้เป็นวันพระจันทร์เต็มดวง  นักปราชทั้งหลายก็ถึงความดับเปนอันมากในวันเพญดังนี้  ควรพนะชนมายุจะหมดจะดับในวันนี้เปนแน่แล้ว...  ครั้งเวลาย่ำค่ำ  รับสั่งให้หาพระยาบุรุษย์รัตนราชพัลลภเข้าไปเฝ้า  ให้พยุงพระองค์พลิกพระเศียรทับพระพาหาเหมือนอย่างพระไสยาศน์  จึงตรัสว่าเขาตายกันดังนี้...  แล้วก็ทรงเจริญพระกรรมฐานสมาธิภาวนานิ่ง  พระเศียรสู่ทิศอุดร  ผันพระภักตร์ต่อประจิมทิศภ...เสด็จสู่สวรรคต...

           
พลูหลวง  ได้เขียนเรื่องทิศไว้ในหนังสือเรื่องคติสยาม  ความว่า
           
...
ทิศในสมัยโบราณท่านแบ่งออกเป็นเพศ  และจำแนกเป็นซ้ายกับขวา  ทิศตะวันออกกับใต้เป็นทิศฝ่ายขวา  เพศชาย  ส่วนทิศตะวันตกและทิศเหนือเป็นทิศฝ่ายซ้าย  เพศหญิง
           
ดังได้กล่าวแล้วว่า  โบราณชนท่านถือกันว่า  ขวาเป็นมงคล  ซ้ายเป็นอัปมงคล  ดังนั้นท่านจึงนิยมนอนหันศีรษะสู่ทิศใต้  อันเป็นทิศฝ่ายขวา  ดังในศิลาจารึกสมัยสุโขทัย  และหนังสือไตรภูมิพระร่วงกล่าวถึงหัวนอนคือทิศใต้  เมื่อคนเป็นๆ  นอนหันหัวสู่ทิศใต้  จึงจำเป็นอยู่เองที่คนตายจะต้องหันหัวสู่ทิศเหนือ  คตินี้มีมาเก่าแก่  นับตั้งแต่สมัยยุคก่อนประวัติศาสตร์แล้ว ดังเช่นมีการขุดค้นพบโครงกระดูกมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ที่ลพบุรี  จากรายงานของกรมศิลปากรแจ้งว่าโครงกระดูกนั้นหันหัวไปสู่ทิศเหนือ

             
ในหนังสือ  อาเคอิค  อียิปต์ ของดับเบิลยู  บี  เอมเมอรี  ได้เขียนแผนผังหลุมฝังศพอียิปต์โบราณสมัยลางของปฐมราชวงศ์  ปรากฏว่าศพหันหัวสู่ทิศเหนือ  ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกับชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในดินแดนสยามประเทศ

             
ทิศใต้เป็นทิศมงคล  และเป็นทิศหัวนอนของคนโบราณ  มีชื่อว่าทักษิณ  ซึ่งแปลว่าขวา  หรือความเจริญ..."

         
นอกจากนี้นฤมล  หิญชีระนันทน์  ยังได้กล่าวไว้ในสารานุกรมสมัยสุโขทัย  ของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชไว้ว่า
               
..
แม้การประดิษฐานพระมหาธาตุเจดีย์    วัดมหาธาตุวรมหาวิหารที่เมืองนครศรีธรรมราชไว้    ส่วนใต้สุดของเมืองเดิมที่มีกำแพงล้อมรอบเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า  ยาวไปตามสันทรายมหึมานั้น  ก็หาได้เป็นการบังเอิญไม่  หากเป็นการจงใจให้เป็นไปตามคติการหันหัวนอนสู่ทิศใต้ดังกล่าว  คือเพื่อให้สอดคล้องกับการที่ทุดคนในเขตเมืองเดิม  จะได้หันหัวนอนไปนบสิ่งที่ตนเคารพบูชา  คือ  พระมหาธาตุเจดีย์ซึ่งประดิษฐานเป็นมิ่งขวัญอยู่    ส่วนใต้สุดของเมืองตลอดคืน สำหรับเมืองสุโขทัย  พื้นที่ภายนอกกำแพงเมืองด้านทิศใต้มีสิ่งสำคัญด้านศาสนาและความเชื่อคือกุฎีพิหาร  รวมทั้งเทพยดาในเขา...
              
สำหรับในกาลต่อมาที่ทิศใต้กลายเป็นทิศสำหรับคนตายนั้น  ตามข้อสันนิษฐานของพระยาอนุมานราชธน  ไทยน่าจะได้รับคติมาจากอินเดีย  ที่ว่า  "พระยายม"  เทพเจ้าแห่งความตายเป็นโลกบาลประจำทิศใต้  (หนังสือ  100  ปี  พระยาอนุมานราชธน  เล่มที่  4 )
               
เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไป  อิทธิพลต่างๆ  ก็ทำให้ความเชื่อของคนในสมัยโบราณพลอยเปลี่ยนแปลงไปด้วย  ทีนี้ก็แล้วแต่ท่านผู้อ่านแล้วล่ะครับ  ว่าจะเลือกเชื่อทางไหน  เพราะ "ความเชื่อ"  ไม่มีถูกไม่มีผิด

0 ความคิดเห็น: